วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกระบวนการทำ infographic กันดีกว่า ว่ากว่าจะทำขึ้นมาได้สักหนึ่งชิ้นนั้นมีกระบวนการทำและสร้างสรรค์อย่างไรกันบ้าง โดยขั้นตอนกระบวนการในการทำมีดังนี้
1.ทำความเข้าใจจุดประสงค์ในการทำ infographic ชิ้นนั้นๆก่อน
การเริ่มต้นกระบวนการทำนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจและหาจุดประสงค์ในการทำของเราเองให้ได้ซะก่อน ว่าเราทำทำไม เอาไปใช้ที่ไหน และใครเป็นคนดูคนอ่าน ซึ่งคำถามทั้งหมด 3 ข้อนี้ที่เราจะต้องตอบให้ได้
ทำทำไม?
ต้องรู้ให้ได้ว่าเราทำทำไม มีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการสื่อสารเรื่องอะไรจะได้กำหนดหัวเรื่องเนื้อหาข้อมูลให้ชัดเจนตรงประเด็น หรือถ้าหากมีข้อมูลหรือหัวเรื่องอยู่แล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าเอาไปใช้งานแบบไหน จะได้รู้ต่อไปว่าเราจะสื่อสารอย่างไรให้เข้าใจง่าย เช่นใช้ “แผนภาพ” เข้ามาช่วยดีไหมหรือถ้าต้องการทำให้เตะตาคนอ่านจะต้องใช้กราฟิกอื่นๆที่น่าสนใจกว่าก็ได้
เอาไปใช้ที่ไหนอย่างไร?
ถัดมาคือเราต้องรู้ว่างานชิ้นนั้นๆจะถูกนำไปใช้ที่ไหน จะถูกผลิตเป็นรูปแบบใดเช่นเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบนเว็บไซต์หรือนำไปเปิดบนจอขนาดเท่าไหร่ เนื่องจากหากเป็นเว็บไซต์ เราสามารถออกแบบขนาดของงานให้แปลกตาออกไปได้มากกว่าสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์เช่น ให้ขนาดของงานมีความยาวมากกว่าปกติ หรือเป็นภาพหลายๆภาพมาต่อกันได้ เพราะคนอ่านจะสามารถเลื่อนลงมาดูหรือเลื่อนอ่านไปเรื่อยๆได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งพิมพ์ ขนาดของงานก็อาจเข้ามาเป็นเรื่องข้อจำกัดและต้องระมัดระวังรวมถึงขนาดของตัวอักษรด้วย เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์ผู้อ่านไม่สามารถขยายภาพเพื่ออ่านตัวหนังสือที่เล็กได้เหมือนกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือจอที่เอาไปเปิดนั้นมีขนานเท่าไหร่เราจะได้กำหนดขนาดที่ถูกต้องชัดเจน งานของเราจะได้ภาพไม่แตกเป็นต้น
ใครเป็นคนดูคนอ่าน?
สุดท้ายคือต้องรู้ว่าใครเป็นคนดูคนอ่านงานของเรา กลุ่มเป้าหมายหรือผู้อ่านนั้นเป็นคนแบบไหน เพราะมันส่งผลกระทบกับความละเอียด ลักษณะทิศทางของการเขียนเนื้อหา วิธีการใช้คำว่าจะเป็นอย่างไร รวมถึงมันส่งผลต่อรูปแบบลักษณะของภาพกราฟิกหรือภาพการ์ตูนที่จะใช้ในงาน infographic ด้วย หากคนอ่านมีอายุมากแล้วความเป็นภาพการ์ตูนในงานก็ต้องน้อย ลงเพื่อให้เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน
2. ศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่นำมาใช้
เมื่อได้หัวเรื่อง จุดประสงค์ และรู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้วก็มาศึกษาข้อมูล ขั้นตอนนี้เราต้องระวังให้ดีควรหาข้อมูลเรื่องราวจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและต้องคอยเช็คความถูกต้องของข้อมูลนั้นๆตลอดด้วย อาจจะด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆแหล่ง สอบถามผู้รู้ เป็นต้น
3.กำหนดจัดระเบียบและเรียบเรียงเนื้อหา
เมื่อได้ข้อมูลเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารมาแล้วก็นำมาจัดระเบียบและเรียบเรียงข้อมูลให้เสร็จ แล้วนำเอามาข้อมูลที่จัดระเบียบแล้วมาย่อยข้อมูลให้กระชับอีกครั้ง เพื่อให้งาน infographic ของเราสื่อสารได้รวดเร็วและเข้าใจง่าย
4. สเก็ตและออกแบบ
ลองวาดภาพร่างสเก็ตงานคร่าวๆ จากข้อมูลที่มีและจัดวางรูปแบบเลเอาท์ (layout) ดีไซน์ของงานหลายๆแบบดู แล้วลองดูว่าแบบไหนมันไปด้วยกันเข้ากันกับข้อมูลได้มากที่สุด ช่วยส่งเสริมข้อมูลของเราให้น่าสนใจได้ดีที่สุด ถ้าได้ดีไซน์ที่ชัดเจนและดีแล้ว ต่อไปจึงนำภาพร่างนั้นไปออกแบบและทำกราฟิกจริงโดยใช้โปรแกรมต่างๆต่อไป
5.ตรวจสอบ
ท้ายที่สุดคือการตรวจสอบเช็คข้อมูล คำถูกผิด ตัวสะกดต่างๆว่าถูกต้องไหมเป็นรอบสุดท้าย เนื่องจากเรื่องของข้อมูลที่สื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของ infographic เมื่อตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จึงค่อยนำไปเผยแพร่
สรุปแล้ว infographic ชิ้นหนึ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ทั้งเวลา ความละเอียด ความใส่ใจและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเพื่อให้เกิดขึ้นมาเป็นงานดีๆ มีประสิทธิภาพชิ้นหนึ่ง