องค์ประกอบในการวิจารณ์ แอนิเมชั่น

Published

September 3, 2017

Share MEE

รับทำแอนิเมชั่น-Mr.Mee Studio-044-01

องค์ประกอบในการวิจารณ์ แอนิเมชั่น

ในการวิจารณ์งานภาพยนตร์แอนิเมชั่นนั้น หากว่าเราเป็นผู้ที่รับทำแอนิเมชั่นที่มีความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจในหลักการทฤษฎีต่างๆ กระบวนการผลิต หรือเทคนิควิธีการสร้างสรรค์ จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้การศึกษาหรือวิเคราะห์ รวมถึงการวิจารณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนั้นมีความถูกต้อง ชัดเจนแม่นยำ มากยิ่งขึ้น แต่ในวันนี้เราจะมาดูองค์ประกอบหรือปัจจัยพื้นฐานในการวิจารณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นว่ามีอะไรบ้าง

1.โครงสร้างของภาพยนตร์แอนิเมชั่น

เริ่มแรกเมื่อเราได้รับชมภาพยนตร์แอนิเมชั่นสักเรื่องนั้น ส่วนหนึ่งที่เราสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ โครงสร้างหลักของเรื่องเช่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร โดยเราสามารถนำองค์ประกอบพื้นฐานเหล่านั้นมาช่วยในการสังเกตุวิเคราะห์วิจารณ์ได้ หรือหากใครมีความรู้ในเรื่องหลักการเขียนบทภาพยนตร์ก็นำมาใช้วิเคราะห์ได้เช่นกัน โดยเริ่มพิจารณาจากองค์ประกอบเหล่านี้

1.1 แนวคิดหลักของภาพยนตร์ คอยสังเกตุว่ามีแนวคิดหลักอย่างไร มีความสนุกสนาน น่าติดตาม มีความแปลกใหม่หรือไม่ เช่น “การผจญภัยของผู้มีพลังอำนาจแฟนตาซีเหนือจริง” หรือ “ปิศาจและเหล่าฮีโร่ที่มีอยู่จริงและแผงตัวอยู่ร่วมกับโลกมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ” เป็นต้น

1.2 แนวเรื่องของภาพยนตร์ เช่น แนวตลก แนวสนุกสนาน แนวแอคชั่น แนวสืบสวนสอบสวน แนวเด็กวัยรุ่น แนวสยองขวัญระทึกขวัญ เป็นต้น โดยดูว่าการดำเนินเรื่องราวทั้งหมดสามารถตอบโจทย์แนวเรื่องได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น หากหนังสยองขวัญแต่ดำเนินเรื่องราวออกมาได้ไม่น่ากลัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนั้นก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

1.3 รูปแบบและสไตล์ของภาพยนตร์แอนิเมชั่น ว่าเป็นอย่างไร เช่น รูปแบบการวาดแบบเหมือนจริง รูปแบบการวาดแบบตัดทอน ยุคโบราณ ยุคอวกาศ เป็นต้น แล้วจึงพิจารณาดูภาพรวมทั้งหมดของเรื่องว่ามีความกลมกลืนไหลลื่นต่อกันหรือไม่

1.4 การเล่าเรื่อง โดยพิจารณาดูว่า ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนั้นๆมีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไร มีความน่าสนใจที่จะดึงดูดให้คนติดตามมากน้อยเพียงใด มีอะไรแปลกใหม่ในการนำเสนอเนื้อเรื่องหรือไม่ มีมุขตลก การหักมุม การสื่อสารความหมายหรือข้อคิด ประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์อะไรหรือไม่ รวมถึงมีวิธีการตัดต่อเรียงเรียงเป็นอย่างไร

2.สุนทรีย์ศาสตร์ของภาพยนตร์แอนิเมชั่น

คือแนวทางการพิจารณาผ่านปัจจัยด้านความสวยงาม ความน่าสนใจและเสน่ห์ดึงดูดของงานศิลป์ การใช้สีสัน แสงเงา ฉากบรรยากาศ ตลอดจนการนำศิลปะอื่นๆมาใช้ในภาพยนตร์ รวมทั้งการใช้เสียงและดนตรีประกอบต่างๆ ว่าเหมาะสมกลมกลืนหรือไม่

2.1 การออกแบบ ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชั่น เช่นการออกแบบลักษณะตัวละครหรือ character design การออกแบบฉากหลังบรรยากาศต่างๆ เช่น บ้านเรือน วิว ทิวทัศน์ต่างๆ ที่จะต้องมีการออกแบบให้โดดเด่น น่าสนใจและมีความแปลกใหม่ ซึ่งต้องดูรวมถึงองค์ประกอบศิลป์ รายละเอียดของส่วนประกอบต่างๆ รวมทั้งลักษณะการใช้มุมกล้องของภาพด้วย ซึ่งทั้งหมดควรให้ความสัมพันธ์สอดคล้องกับแนวคิด แก่นของเรื่องและกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

2.2 งานศิลป์ คือการนำเอาแนวคิดและรูปแบบของการออกแบบต่างๆนำมาสร้างสรรค์และผลิตออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด เช่นการลงสี การลงแสงเงาต่างๆในตัวละครและฉาก ซึ่งทุกๆอย่างล้วนมีกระบวนการที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของภาพยนตร์แอนิเมชั่น

2.3 การเคลื่อนไหวต่างๆ คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆ ตามกระบวนการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชั่น โดยอาศัยวิธีการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันไป เช่น แอนิเมชั่นแบบ 2 มิติ แอนิเมชั่นแบบ 3 มิติ หรือแอนิเมชั่นแบบสต็อปโมชั่น เป็นต้น

2.4 เสียง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความน่าสนใจให้กับงานภาพยนตร์แอนิเมชั่น โดยเสียงยังเป็นตัวกำหนดการเคลื่อนไหวด้วย เช่นการขยับปากตามเสียงพูด เป็นต้น การสร้างสรรค์เสียงและดนตรีประกอบที่ดี จะช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ให้กับภาพยนตร์แอนิเมชั่นได้มากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบสำหรับใช้ในการวิจารณ์งานข้างต้นนั้น สามารถสรุปและนำไปใช้เป็นหลักการวิจารณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นในเบื้องต้นได้ และเมื่อได้รับชมแล้วหากได้มีการนำหลักการวิจารณ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเหล่านี้ไปใช้เพื่อการศึกษาเทคนิควิธีการต่างๆ รวมถึงทำความเข้าใจแล้วนำไปทดลองฝึกฝน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรับทำแอนิเมชั่นได้อีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://web.kku.ac.th/faa/New/Animation.htm

Contact Mee:

Copyright 2016 Mr. Mee Studio ©  All Rights Reserved

    Reach Mee: