วิธีบอกเล่าผ่านภาพที่เราจะหยิบมาใช้มีหลายประเภท เราสามารถลองใช้ตามความเหมาะสมกับงานที่เราทำอยู่ได้หลากหลาย โดยที่อินโฟกราฟิกนั้นเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพรูปแบบหนึ่งที่เป็นการย่อยเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย อธิบายให้เห็นเป็นขั้นตอน แจกแจงเป็นรูปภาพ เหมาะกับการนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนหรือมีขั้นตอนเยอะ ที่ยุ่งยากแก่การเข้าใจ อินโฟกราฟิกก็เข้ามาเป็นตัวช่วยที่ย่อยปัญหาเหล่านั้นให้เข้าใจง่าย
โดยที่หากจะให้งานอินโฟกราฟิกมีความสนุกในการอ่านและดูไม่น่าเบื่อแล้วละก็ การเล่าเรื่องด้วยภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญรวมถึงเป็นส่วนที่เรียกร้องความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดีด้วย
การฝึกเล่าเรื่องด้วยภาพจึงนับเป็นสิ่งที่ต้องมั่นฝึกฝนสำหรับคนทำอินโฟกราฟิก โดยในขั้นเริ่มต้น สิ่งที่เรามีอยู่ในมือเหมือนๆกัน คือไอเดียที่จับต้องไม่ได้เป็นเพียงภาพในหัวของเราเท่านั้น การจะกรั่นกรองเอาไอเดียในหัวออกมาบางครั้งว่ายากแล้ว แต่การเล่าเรื่องราวเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของเราสนใจและเข้าใจตรงกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารยิ่งยากขึ้นไปอีก วันนี้เราเลยขอหยิบเอาไอเดียดีที่ใช้ภาพเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นความสนใจ มาแบ่งปันให้ทุกคนกัน
เริ่มจากคนเรามักคุ้นชินกับการเล่าเรื่องผ่านคำพูดและตัวอักษรเป็นอย่างดี ซึ่งเราจะเพิ่มอรรถรสในการเล่าเรื่องให้กลมกล่อมมากขึ้นด้วยการใช้ "ภาพ" เพราะภาพหนึ่งภาพบอกเล่าแทนถ้อยคำได้เป็นร้อยเป็นพันคำ โดยจากผลวิจัยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
- 40 % ของคนเราตอบสนองได้ดี เมื่อมองเห็นเป็นภาพ
- 70 % ของการรับรู้ทั้งหมดของเรา มาจากการมองเห็น
- กว่า 90% ของข้อมูลต่างๆที่เข้ามากระทบกับสมองของเราเป็นข้อมูลรูปภาพ
- สมองของเราจดจำรูปภาพได้ดีกว่าข้อความหลายเท่าตัว
เคล็ดลับการเล่าเรื่องด้วยภาพที่ช่วยดึงความสนใจได้ดี
จากสถิติบอกให้เรารู้ว่าการใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ภาพเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยเล่าเรื่องให้ดึงดูดมากขึ้น เพิ่มความน่าสนใจ โดยมีเคล็ดลับในการเลือกภาพดังต่อไปนี้
- เลือกภาพที่กระตุ้นจิตใต้สำนึก
“Visceral Reaction” หรือ “การตอบสนองแบบฉับพลัน” เป็นเหมือนห้วงเวลาแห่งการตกหลุมรัก โดยเรามักจะรู้สึกรักแบบไม่ทันตั้งตัว รักแบบไม่มีสาเหตุ ความรู้สึกแบบนี้จะส่งตรงมาจากจิตใต้สำนึก เป็นความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ การเลือกใช้ภาพเพื่อกระตุ้นอารมณ์แบบนี้ส่วนใหญ่ จึงมักเป็นภาพที่สัมพันธ์กับปัจจัยพื้นฐานหลักที่มนุษย์ทุกคนต้องการ อย่างเช่น อาหาร ความปลอดภัย เซ็กซ์ ดังนั้นการเลือกภาพประเภทนี้มาใช้จึงดึงความรู้สึกร่วมได้ง่ายมากๆ
- กฎภาพ 3 ส่วน ตาราง 9 ช่อง
เป็นกฎพื้นฐานที่ปกติช่างภาพทุกคนรู้ดี ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบอินโฟกราฟิกได้เช่นกัน โดยกฎภาพ 3 ส่วนคือการแบ่งภาพเป็น 3 ส่วนทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เมื่อขีดเส้นแบ่งแล้วเราจะเห็นตาราง 9 ช่อง ที่มีจุดตัด 4 จุด ซึ่งปกติเรามักเข้าใจผิดว่าจุดเด่นของภาพต้องอยู่กลางภาพ แต่จริงๆแล้วจุดตัดทั้งหมด 4 จุด หรือจุดตัดเก้าช่อง กลับเป็นส่วนที่เราควรวางจุดเด่นของภาพไว้นั้นเอง
ภาพที่มีจุดเด่นอยู่ตรงกลางจะแข็งเกินไป สายตาของผู้ชมจะไม่กวาดตามองทั่วภาพ แต่หากเราหลบเลี่ยงวางภาพไว้ที่จุดตัดทั้ง 4 จุด จะเป็นการบังคับให้สายตาคนมองสอดส่องแบบทั่วภาพ ทีนี้เวลาเราเลือกภาพมาใส่ในงานก็ต้องลองดูอีกทีด้วยว่า ภาพที่เลือกใช้วางองค์ประกอบดีหรือไม่
- คั่นคำด้วยภาพเสมอ
ถ้าหากเป็นไปได้ทุกครั้งที่เราบรรยายด้วยตัวอักษรเสร็จก็ควรคั่นด้วยภาพ 1 ภาพ การเลือกใช้ภาพคั่นคำเหมือนเป็นการเบรกเล็กๆ ให้คนได้หยุดพัก ได้คิดตาม และช่วยลดความน่าเบื่ออีกด้วย
และทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการง่ายๆที่จะทำให้เราเลือกภาพภายในงานอินโฟกราฟิกของเราได้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/9978