เรื่องลิขสิทธิ์ในงานออกแบบ

Published

October 3, 2017

Share MEE

รับทำ infographic-Mr.Mee Studio-132

เรื่องลิขสิทธิ์ในงานออกแบบ

เรื่องหนึ่งที่นักออกแบบหลายๆคน ไม่ว่าจะรับทำ infographic โลโก้ กราฟิกทั่วไป มักจะกังวลกันมากก็คือเรื่องของลิขสิทธิ์ในงานออกแบบ ว่ามีอะไรบ้าง มีขอบเขตอย่างไร ลิขสิทธิ์แบบไหนที่ให้การคุ้มครองในงานออกแบบที่เราได้ออกแบบไป วันนี้เราจึงมีบทความดีๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ในงานออกแบบมาฝากกัน

กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่คุ้มครองในเรื่องของงานออกแบบ

มีด้วยกัน 3 ประเภทดังนี้คือ

1.เครื่องหมายการค้า (Trademark)

หมายถึง คำ ชื่อ ข้อความ รูป ตัวเลข กลุ่มสี รูปร่างของวัตถุที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการ แบรนด์ธุรกิจต่างๆ ได้ เห็นแล้วรู้ทันที โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพรบ.เครื่องหมายการค้า ห้ามซ้ำกับเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว และห้ามคล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียง

เครื่องหมายการค้านี้มีการให้ความคุ้มครองทันทีตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียน แม้ว่ากระบวนการจดและตรวจสอบจะยาวนานเป็นปี แต่ถ้ามีปัญหาก็สามารถย้อนหลังไปถึงวันที่จดทะเบียน โดยมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกคราวละ 10 ปี

2.ลิขสิทธิ์ (Copy Right)

คุ้มครองการแสดงออกของความคิด แต่ไม่คุ้มครองความคิดที่ยังไม่เผยแพร่ออกมา กฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองโดยทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียน มุ่งคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อไม่ให้ถูกลอกเลียนหรือทำซ้ำ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ และต่อเนื่องเป็นเวลาอีก 50 ปี ฉะนั้น เมื่อผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตผ่านไปแล้ว 50 ปี งานนั้นจะถือเป็นสาธารณะ ยกเว้นบางประเภท เช่น ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ และภาพยนตร์ จะคุ้มครอง 50 ปีนับแต่วันโฆษณา ส่วนศิลปประยุกต์ จะคุ้มครอง 25 ปีนับแต่วันโฆษณาหรือเผยแพร่

งาน 9 ประเภทซึ่งมีลิขสิทธิ์ ได้แก่

1.งานวรรณกรรม (รวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

2.งานการแสดง

3.งานวิจิตรศิลป์ ศิลปกรรม ได้แก่

-ภาพวาด

-ประติมากรรม

-งานพิมพ์

-งานตกแต่งสถาปัตย์

-ภาพถ่าย

-ภาพวาดเขียน แผนที่ ภาพร่าง

-งานประยุกตศิลป์ (งานประยุกตศิลป์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปีหลังจากวันจัดสร้าง)

4.งานดนตรี

5.งานสิ่งบันทึกเสียง (เทป ซีดี)

6.งานโสตทัศนวัสดุ (วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง)

7.งานภาพยนตร์

8.งานแพร่เสียงแพร่ภาพ

9.งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ (รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

ส่วนงานที่ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่ ข่าวและข้อเท็จจริง รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ระเบียบ/ข้อบังคับ/ประกาศ/คำสั่งของรัฐ คำพิพากษา/คำวินิจฉัยของราชการ และคำแปลของสิ่งต่างๆ ข้างต้น

3.สิทธิบัตร (Patent)

สิทธิบัตรแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 3 ประเภทคือ

3.1สิทธิบัตรทางการประดิษฐ์

คุ้มครองการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นตอนชัดเจน สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้ และมีอายุคุ้มครอง 20 ปี

3.2 สิทธิบัตรทางการออกแบบ

คุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ สามารถใช้เป็นแบบของผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรมและอุตสาหกรรมได้ โดยมีอายุคุ้มครอง 10 ปี

3.3 อนุสิทธิบัตร

คุ้มครองการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมได้ แต่ใช้เทคโนโลยีน้อย และมีอายุคุ้มครอง 6 ปี ขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปีเท่านั้น เช่น การประดิษฐ์ประตูเหล็กแบบพับได้ เป็นต้น

โดยที่ผลิตภัณฑ์ 1 ชนิดมีได้หลายความคุ้มครอง เช่น กาแฟดอยช้างมีทั้งเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรการผลิต ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรการออกแบบ หากมีการละเมิดก็ต้องดูว่าละเมิดอะไรบ้าง

ซึ่งโดยสรุปก็คือถ้าหากมีการออกแบบโลโก้เพื่อจะนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือโลโก้ของแบรนด์ธุรกิจ เราก็ต้องจดทะเบียนให้ความคุ้มครองแบบเครื่องหมายการค้า แต่ถ้าหากเราประดิษฐ์อะไรขึ้นมา งานออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้จดเป็นสิทธิบัตร และสุดท้ายหากเป็นงานภาพวาด ภาพถ่าย งานแต่งเพลง หรืองานศิลปะอื่นๆ ก็ให้จดเป็นลิขสิทธิ์ ซึ่งงานลิขสิทธิ์นั้นโดยปกติจะให้ความคุ้มครองทันทีเมื่อมีการสร้างผลงานขึ้นมา การไปจดทะเบียนก็เพื่อเป็นหลักฐานว่าเราเป็นผู้สร้างงานชิ้นนั้นๆขึ้นมาจริงๆ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับทำงานออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรับทำ infographic โลโก้ หรือกราฟิกทั่วๆไปนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากๆ : http://www.tcdc.or.th/articles/others/26872/#รู้ไว้ไม่ดราม่า!-ติดอาวุธนักออกแบบด้วยกฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับงานออกแบบ

Contact Mee:

Copyright 2016 Mr. Mee Studio ©  All Rights Reserved

    Reach Mee: