แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทยกับเรื่อง “สุดสาคร”

Published

August 24, 2017

Share MEE

แอนิเมชั่น-Mr.Mee Studio-070-01

แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทยกับเรื่อง “สุดสาคร”

ในวันนี้เราจะมาดูประวัติความเป็นมาของแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทยอย่างเรื่อง “สุดสาคร” และประวัติผู้สร้างสรรค์และกำกับของเรื่องอย่างอาจารย์ปยุต เงากระจ่างกัน

สุดสาคร แอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทย

สุดสาคร เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นแนวแฟนตาซี ผจญภัย ที่กำกับโดยอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง และนับเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2522 เนื้อหาในแอนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ โดยคัดเอามาเฉพาะช่วงตั้งแต่ตอนกำเนิดสุดสาครไปจนถึงการเดินทางตามหาพระอภัยมณี ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการได้นำภาพในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับให้เยาวชนอ่านในโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็พอจะหาภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องนี้มารับชมได้ผ่านช่องทางอย่าง Youtube

ประวัติ อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง ผู้สร้างสรรค์และกำกับแอนิเมชั่น สุดสาคร

ท่านเกิดในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่วัยเยาว์อาจารย์ปยุตมีความหลงไหล ในตัวการ์ตูนต่างๆเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลกจากหนังตลุงอย่างไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่ง รวมถึงตัวการ์ตูนแมวเฟลิกซ์ จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง Felix the Cat ของ Pat Sullivan

แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นของอาจารย์ปยุต เกิดขึ้นเมื่อเขาได้พบกับอาจารย์เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย โดยบังเอิญ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 การพบกันครั้งนั้นอาจารย์เสน่ห์ได้ชวนอาจารย์ปยุต ไปทำภาพยนตร์การ์ตูนด้วยกันถ้าหากเขาได้เข้ามาในกรุงเทพ

เมื่ออาจารย์ปยุตเดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพในปี พ.ศ. 2487 ที่ โรงเรียนเพาะช่าง ก็ไม่ลืมที่จะออกตามหาอาจารย์เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน เพื่อที่จะทำการ์ตูนตามที่เคยสัญญา แต่ก็ต้องคลาดเคลื่อนกันไปหลายครั้งหลายคราว

และสุดท้ายอาจารย์ปยุตก็ไม่ได้พบกับอาจารย์เสน่ห์เนื่องจากอาจารย์เสน่ห์เสียชีวิตไปเสียก่อน แต่อาจารย์ปยุตก็ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการสร้างการ์ตูนของอาจารย์เสน่ห์เมื่อ 2 ปีก่อนนั้นประสบความล้มเหลว เนื่องจากขาดการสนับสนุน ดังนั้นอาจารย์ปยุตจึงตั้งปณิธาณ ที่จะสานต่อความตั้งใจของอาจารย์เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน โดยจะสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกให้จงได้

8 เดือนต่อมาอาจารย์ปยุตก็เข้าใกล้ความฝันไปอีกขั้น เมื่อสามารถสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง เหตุมหัศจรรย์ ได้สำเร็จเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นขนาดสั้น ความยาว 12 นาที นำออกฉายเป็น รายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับการนำออกฉายสู่สาธารณชนในวงกว้าง โดยได้ฉายประกอบในรายการฉายภาพยนตร์เรื่อง ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา

ต่อมาอาจารย์ปยุตได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นสั้นความยาว 20 นาที อีก 2 เรื่อง ได้แก่ หนุมานเผชิญภัย ฉายในปี 2500 ของสำนักข่าวสารอเมริกัน และ เด็กกับหมี ฉายในปี 2503 ขององค์การ สปอ. นอกจากทำงานที่สำนักข่าวสารอเมริกันแล้ว อาจารย์ปยุตยังรับจ้างทำหนังโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆ อีกด้วย ซึ่งผลงานหลายชิ้น ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างดี

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 อาจารย์ปยุต ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษไปสอนที่วิทยาลัย เพาะช่าง ในแผนกพาณิชย์ศิลป จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2519 อาจารย์ปยุตจึงได้ลาออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษที่เพาะช่าง เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมด ให้กับการทำภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย เรื่อง “สุดสาคร” โดยมีลูกมือผู้ช่วยในการทำงานสร้างคือ นันทนา เงากระจ่าง บุตรสาว

แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้การสร้าง สุดสาคร เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้ายอาจารย์ปยุต ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำทำงานตลอดเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่ง สุดสาครภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของไทยสำเร็จและได้ออกฉาย ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2522

อาจารย์ปยุตเคยเสนอโครงการที่จะสร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นไทย ไปยังที่ต่างๆ แต่ก็มักจะได้รับการปฏิเสธ หลังจากเรื่อง สุดสาคร อาจารย์ปยุต ก็ไม่ได้ทำภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นอีกจนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 เขาได้รับการว่าจ้างจาก JOICEP FILM ประเทศญี่ปุ่น ให้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น เพื่อการศึกษาสำหรับสตรีเรื่อง “ชัยชนะของสาวน้อย (My Way)”

และนี้ก็คือประวัติความเป็นมาของ สุดสาคร แอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย ที่สร้างสรรค์และกำกับโดยอาจารย์ปยุต เงากระจ่าง

ขอบขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
https://pongphun.wordpress.com

 

Contact Mee:

Copyright 2016 Mr. Mee Studio ©  All Rights Reserved

    Reach Mee: