วันนี้เราจะมาดูว่ามีคำถามอะไรบ้างที่หากนักออกแบบที่รับออกแบบเจอแล้วต้องกุมขมับ จนบ้างครั้งต้องบอก say no ไป
1.ทำงานให้ฟรีๆได้รึเปล่า
คำถามยอดฮิตที่นักออกแบบทุกคนจะต้องเคยเจอ ผู้ว่าจ้างท่านใดที่ชอบถามคำถามนี้ จะว่าด้วยเพราะความเป็นเพื่อน ญาติผู้ใหญ่หรือคนรู้จักก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าอาชีพนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ขีดๆเขียนๆวาดๆแปปเดียวก็เสร็จแล้ว แต่แท้จริงแล้วหารู้ไม่ว่าทุกๆงานออกแบบต้องผ่านกระบวนกลั่นกรองทางความคิดและกระบวนการสร้างสรรค์งานต่างๆ โปรดคำนึงถึงว่าของทุกอย่างมีต้นทุนเสมอ ดังนั้นงานออกแบบก็เช่นกัน อย่าใช้ความรู้จักสนิทผูกพันในการต่อรองให้นักออกแบบทำงานให้ฟรีๆเลย
2.งานนี้มีงบค่อนข้างน้อยนะ แต่งานของคุณมีคนเห็นเยอะแน่นอน
สำหรับคำถามในลักษณะนี้ถ้าหากเรายังคงเป็นหน้าใหม่ในวงการก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้แย่นัก ที่จะทำงานเพื่อเป็นพอร์ตให้กับตัวเอง แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์การทำงานสูงขึ้นมา ส่วนมากก็จะปฎิเสธงานที่ไม่คุ้มต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเตือนนักออกแบบหน้าใหม่ที่เพิ่งจบไว้ว่า หากจะรับงานใดๆก็ควรเป็นราคาที่เราคำนวณแล้วว่าเป็นราคาที่เราไม่ขาดทุน อย่างน้อยก็ควรพอดีตัว เพราะสิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาที่รับมาต่ำจนเกินไปจะปั่นป่วนตลาด ซึ่งส่งผลไม่ดีทั้งวงการการออกแบบในระยะยาว
3.ยังไม่มีข้อมูลหรอก แต่ไปลองทำมาให้ดูก่อนได้ไหม
คำถามนี้บ่อยครั้งมักเกิดขึ้นกับคนที่เราติดต่องานด้วย เนื่องจากมีไอเดียที่อยากได้งานเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับนักออกแบบ หากเจอรูปแบบคำถามในเชิงนี้ สิ่งที่เราควรทำก็คือ แจกแจงว่าสิ่งที่เขาต้องทำมาให้เราก่อนถึงจะเริ่มงานได้มีอะไรบ้าง รวมถึงค่าต้นทุนการผลิตว่าถ้าสั่งให้เราทำก่อนแล้วมาแก้ใหม่หมด ราคาที่ต้องเสียเปล่าของเขามันจะแพงขึ้น พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจแล้วหาตรงกลางของทั้งสองฝ่ายให้ได้
4.งานด่วนมาก ทำได้รึเปล่า
ค่อนข้างเป็นคำถามที่เป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับวงการนี้ เพราะงานที่มามักต้องการความรวดเร็วเสมอ ซึ่งถ้าหากบางงานที่เราดูและคำนวนเวลาแล้วไม่สามารถทำทัน ปฎิเสธผู้ว่าจ้างไปจะเป็นทางที่ดีเสียมากกว่าการรับงานมา แต่ถ้าหากค่าตอบแทนคุ้มค่า บางทีนักออกแบบก็สามารถผลิตงานออกมาให้ผู้ว่าจ้างได้
5.ชอบสีชมพู คุณสามารถเปลี่ยนสีมันได้รึเปล่า
รสนิยมความชอบนี้เป็นเรื่องส่วนตัว หากเราทำงานให้ลูกค้าโดยตรง เราก็ควรเปลี่ยนให้ แต่หากเป็นกรณีที่งานเป็นแคมเปญอะไรบางอย่าง เช่น ธีมแคมเปญเป็นสีเขียว เราก็ควรอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจเหตุผลว่าทำไมเราเปลี่ยนให้ไม่ได้อย่างสุภาพ
6.สามารถทำงานที่เหมือนกับของนักออกแบบคนนั้นได้รึเปล่า
หนึ่งสิ่งที่นักออกแบบไม่อยากทำที่สุดก็คือการเลียนแบบงานคนอื่น การเลียนแบบงานไม่ใช่สิ่งที่ผิดในกรณีการศึกษามาพัฒนาตัวเอง แต่ในการทำงานจริงการลอกงานเป็นหนึ่งในตราบาปของนักออกแบบ การนำงานมาเป็น reference สามารถทำได้ แต่การ copy หรือลอกงานจนเหมือนแทบทั้งหมด ไม่มีใครอยากทำแน่นอน
7.ลดราคาได้รึเปล่า
ตลกร้ายก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกปลูกฝังให้ต่อราคาก่อนซื้อของเสมอ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่อย่าลืมว่านักออกแบบไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นพ่อค้า เพราะฉะนั้นส่วนมากราคาที่ออกมาไม่ใช่สำหรับรองรับการเผื่อต่อเสมอไป ซ้ำร้ายบางทีผู้ซื้อทำการกดราคาลงไปอีก นักออกแบบยังจำเป็นต้องกินต้องใช้ ทั้งนี้ทั้งนั้นในแง่ของผู้ซื้อก็ควรจะเช็กราคาจากหลายๆเจ้าก่อน เพราะราคาที่ท่านจ่ายไปบางทีอาจจะได้ของที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาเท่ากัน
8.มีไอเดียใหม่มา เปลี่ยนงานใหม่ทั้งหมดได้รึเปล่า
ค่อนข้างเป็นคำที่โหดร้ายสำหรับนักออกแบบ ถ้าทำไปไกลแล้วคนที่มีประสบการณ์การทำงานสูงๆก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงงานใหม่ทั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เป็นปัญหาในกรณีที่เรามีวิธีการรับมือที่ดี เช่น การทำสัญญาที่รัดกุม กรณียกงานใหม่ ส่วนมากเราสามารถเรียกเก็บเงินตามงานที่ดำเนินไปแล้วได้ ตามสัญญาทีตกลงกันไว้ แล้วไอเดียใหม่นี่นับว่าเป็นงานอีกชิ้น ซึ่งส่วนมากผู้ว่าจ้างคงไม่มีใครอยากจ่ายเงินซ้ำซ้อนหรอก สัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานออกแบบ
9.ผมทำมาใน word ส่วนหนึ่งแล้วคุณทำต่อจากตรงนี้ได้เลยรึเปล่า
เป็นหนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวของคนทำงานออกแบบที่จะเจอลูกค้าผู้หวังดี รวบรวมไฟล์จัดมาให้ใน Word ซึ่งในกรณีสำหรับข้อมูลที่เป็นข้อความนั้นเป็นเรื่องดี แต่ในกรณีของรูปภาพที่ใส่มาให้ใน Word นั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำไปทำต่อได้ ทั้งจากภาพต้นฉบับเล็กและอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้งนักออกแบบไม่มีใครที่ทำงานออกแบบให้คุณโดยใช้ Word อย่างแน่นอน การใช้วิธีนี้เพื่อให้นักออกแบบช่วยลดราคาให้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
10.เอาโลโก้บริษัทมาจากเว็บไซด์นะ
ในองค์กรเล็กๆมักมีปัญหาการหาไฟล์โลโก้ไม่เจอแล้วบอกปัดให้นักออกแบบเอาจากเว็บไซด์บริษัทนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาโลโก้ในเว็บไซด์มาขยายเพื่อการทำงานออกแบบต่อได้ เนื่องจากรูปที่เล็ก ความละเอียดต่ำ
ดังนั้นหากเป็นไปได้ผู้ว่าจ้างก็ต้องเปิดใจเปลี่ยนมุมมองในการมองงานออกแบบและนักออกแบบใหม่ นักออกแบบที่รับออกแบบเองก็ต้องคอยอธิบายให้ผู้ว่าจ้างเข้าใจเช่นกัน