ความเป็นมาของวงการการ์ตูนไทย

Published

September 13, 2017

Share MEE

รับทำการ์ตูน-Mr.Mee Studio-106-01

ความเป็นมาของวงการการ์ตูนไทย

ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป หลายๆอย่างก็เปลี่ยนแปลงตามรวมถึงการ์ตูนไทยและนักวาดที่รับทำการ์ตูนก็ต้องปรับตัวกันไปด้วย วันนี้เราจึงจะมาดูกันว่าการ์ตูนไทยมีความเปลี่ยนแปลงกันไปอย่างไรบ้างตามยุคสมัยต่างๆ

ทำความรู้จักกับความเป็นมาของการ์ตูน

การ์ตูนนั้นเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่มีความโดดเด่นและสามารถให้ความบันเทิงแก่ผู้คนมาอย่างยาวนาน และการ์ตูนนั้นก็มักถูกแบ่งออกเป็นสองสไตล์หลักๆซึ่งก็คือ สไตล์คอมิก (Comic) จากฝั่งตะวันตก และสไตล์มังงะ (manga) จากประเทศญี่ปุ่น โดยในฝั่งตะวันตกนั้นได้มีการคาดการณ์ว่ามีปรากฏมาตั้งแต่ยุคกลางของทางยุโรป โดยมักอยู่ในรูปแบบของภาพร่างต้นแบบของการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็มีการตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อเลียนลงในหนังสือ ส่วนในด้านของทางญี่ปุ่นก็มีความนิยมในการเขียนภาพวาดตลกหรือที่เรียกว่า “จิกะ” มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพัฒนามาเป็นมังงะในช่วงศตวรรษที่ 19 และรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อยๆหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง

ความเป็นมาของการ์ตูนในประเทศไทย

ประเทศไทยของเรานั้นเริ่มรู้จักกับการ์ตูนกันอย่างจริงๆจังๆก็ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนภาพล้อบุคคลซึ่งเป็นข้ารายบริพารลงในวารสารดุสิตสมิต ทำให้มีหนังสือพิมพ์อื่นๆหันมาสนใจ และตีพิมพ์ภาพการ์ตูนล้อการเมืองกันมากยิ่งขึ้น โดยมีนายเปล่ง ไตรปิ่น ที่ถูกยกว่าเป็นนักวาดการ์ตูนคนแรกของไทย

ต่อมาราวๆปี 2475 ได้เกิดการก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ขึ้น ซึ่งหนังสือของสำนักพิมพ์นี้มีความโดดเด่นอยู่ที่หน้าปกและภาพประกอบที่สวยงามที่วาดโดยจิตรกรผีมือดีอย่างเช่น เหม เวชกร หรือ ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการนำนิยายหรือเรื่องอ่านเล่นที่ได้รับความนิยมหรือยกเอาวรรณคดี นิทาน มาวาดเป็นนิยายภาพและการ์ตูน

ช่วงปีประมาณ 2495 นิตยสารการ์ตูนตุ๊กตา ได้ออกจำหน่ายและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีนิตยสารที่เอาภาพวาดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้อย่างเช่นนิตยสารวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ ที่ปลุกกระแสให้เกิดนิยายภาพแนววิทยาศาสตร์ของไทยขึ้นอีกด้วย

5 ปีต่อมา ผลงานการ์ตูนเรื่อง อัศวินสายฟ้า ของ “พ.บางพลี” ก็ออกมาสร้างความฮือฮาให้กับวงการการ์ตูนและนักอ่าน และนักวาดที่โด่งดังไม่แพ้กันเลยในเวลานั้นก็มี จุก เบี้ยวสกุล จากนั้นอีกไม่นานสำนักพิมพ์ที่คนไทยในปัจจุบันก็ยังคงรู้จักกันอย่าง สำนักพิมพ์บันลือสาสน์ก็วางจำหน่ายนิตยสารการ์ตูน หนูจ๋า ของ “จุ๋มจิ๋ม” และตามมาด้าย เบบี้ ของ “อาวัฒน์” โดยหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะที่เราทุกคนรู้จักกันดีนั้นเริ่มวางจำหน่ายในปี 2516 ตามมาด้วยหนังสือการ์ตูนมหาสนุก

ยุคที่การ์ตูนไทยเริ่มต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง

ในปี 2510 ถือได้ว่าเป็นปีในการเปิดศักราชการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทยขึ้น เนื่องจากมีนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยฉบับแรกออกจำหน่าย ซึ่งจัดทำโดย ไพบูลย์ วงศ์ศรี

นิยายภาพแบบดั้งเดิมของไทยนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการ์ตูนเล่มละบาท โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2520-2526 และการ์ตูนแปลจากการ์ตูนญี่ปุ่นแบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ก็เข้ามาช่วงชิงความนิยมจากนักอ่านไป พอเข้าสู่ช่วงปี 2526-2536 การ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยก็เข้ามาครอบครองตลาดการ์ตูนในประเทศไทย เหลือเพียงการ์ตูนเล่มละบาท ขายหัวเราะและมหาสนุกที่ยังคงยืนยงอยู่ได้ กับนิตยสาร Animate Out ของวิบูลย์กิจที่ยังมีพื้นที่ให้กับนักวาดการ์ตูนไทย ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบให้กับนิตยสารไทคอมิก หลักจากนั้นหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทยก็เริ่มทยอยกันขอลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องและนักวาดการ์ตูนไทยก็มีโอกาสได้แสดงผลงานมากขึ้นผ่านนิตยสารการ์ตูนหลายๆหัว

ยุคทองอันแสนสั้น

นิตยสารวัยรุ่นอย่าง Katch เปิดตัว ในปี 2541 โดยมีพื้นที่เปิดให้นักวาดการ์ตูนไทยได้แสดงฝีมือกัน ในปีถัดมาก็เกิดนิตยสาร Manga Katch และ Neutron ออกตามกันมาติดๆ และปี 2547 นิตยสาร SEED! ออกสู่ตลาดโดยเน้นไปที่การ์ตูนที่วาดจากเกมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น โดยการ์ตูนทั้งหมดวาดโดยคนไทย นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของการ์ตูนไทยเลยทีเดียว ถึงแม้ว่ายุคทองยุคนี้จะมีเวลาไม่ยาวนานนัก แต่ก็ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับนักวาดการ์ตูนไทยหลายๆคนได้แจ้งเกิดมาจนถึงทุกวันนี้

โดยหลังจากช่วงเวลานั้นนิตยสารการ์ตูนไทยก็แทบสาบสูญไปจากแผงหนังสือ กว่าจะมาเริ่มฟื้นฟูได้ก็ในปี 2550 เมื่อนิตยสาร Manga Bash และ Let’s Comic ออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้ การ์ตูนไทยในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊คก็ได้รับความนิยม มีนักวาดการ์ตูนที่ได้แจ้งเกิดขึ้นมามากมายหลายคน

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาการ์ตูนไทยได้ผ่านช่วงเวลาต่างๆมากมายทั้งช่วงเวลารุ่งเรืองและตกต่ำ ทำให้นักวาดที่รับทำการ์ตูนต้องมีการปรับตัวกันตลอดเวลาผ่านแต่ละยุคแต่ละสมัย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก https://www.thairath.co.th/content/488226 โดยทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน

Contact Mee:

Copyright 2016 Mr. Mee Studio ©  All Rights Reserved

    Reach Mee: