องค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบ

Published

October 17, 2017

Share MEE

รับออกแบบ-Mr.Mee Studio-134-01

องค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบ

การจะรับออกแบบให้ได้ดีนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงเหล่าองค์ประกอบในการออกแบบต่างๆด้วย วันนี้เราจึงนำบทความดีๆของพื้นฐานที่สำคัญขององค์ประกอบในการออกแบบมาฝาก

เส้น (Line)

เส้นคือองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งที่เกิดมาจากการเรียงตัวกันของจุด จนสามารถแสดงออกมาเป็นเส้นแนวตั้ง แนวนอนก็ตามแต่การวาด โดยเส้นนั้นเป็นองค์ประกอบที่จะรวมกันจนเกิดเป็นรูปร่าง เส้นยังสามารถแสดงความเร็ว ความเคลื่อนไหวได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่างเช่น การนำหรือดึงสายตาของผู้ชม เส้นนั้นมีหลายลักษณะซึ่งเส้นแต่ละลักษณะก็จะให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • เส้นตั้ง (Vertical Lines)ให้ความรู้สึก สูง แข็งแรง มีระเบียบ
  • เส้นนอน (Horizontal Lines) ให้ความรู้สึก สงบ ร่มเย็น ราบเรียบ
  • เส้นทแยง (Diagonal Lines) ให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว หรือการไม่อยู่นิ่ง ไม่มั่นคง
  • เส้นปะ ให้ความรู้สึก ความไม่เป็นระเบียบ
  • เส้นโค้ง (Curved Lines) ให้ความรู้สึก อ่อนช้อย นิ่มนวล
  • เส้นซิกแซก (Zigzag Lines) ให้ความรู้สึก ตะกุกตะกัก ไม่เรียบร้อย

รูปร่าง (Shape)

รูปร่างนั้นเกิดมาจากเส้นรวมตัวกัน เป็นรูป 2 มิติ ที่มีเพียงความกว้างและความยาว ไม่มีความหนาหรือความลึกและสิ่งสำคัญของการออกแบบ หรือ การจัดองค์ประกอบศิลปะ ก็คือ การจัดรูปร่างรูปทรงเหล่านี้ให้น่าสนใจ ซึ่งควรศึกษาการใช้รูปร่างให้กลมกลืนหรือขัดแย้งกันให้ดีด้วย รวมไปถึงการใช้เทคนิคต่างๆ มาร่วมเช่น ขนาด การใช้สี เป็นต้น

รูปทรง (Form)

เป็นลักษณะของรูป 3 มิติ ที่มีทั้งความกว้าง ความยาว และความลึก หรือ ความสูง ซึ่งการจะเกิดเป็นรูปทรงที่สมบูรณ์ได้นั้นจะเกิดจาก เส้น สี แสงและเงา เมื่อรวมกันจะเกิดปริมาตรให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติได้ ตัวอย่างเช่น รูปทรงเรขาคณิต, รูปทรงตามธรรมชาติอย่างก้อนหิน, ต้นไม้ ฯลฯ

ขนาด (Size)

เป็นการแสดงถึงขนาดของวัตถุและองค์ประกอบบต่างๆภายในงาน ว่ามีขนาดใหญ่ หรือ เล็ก โดยขนาดก่อให้เกิดความรู้สึกเรื่องระยะ หรือความลึกว่าใกล้หรือไกลเพียงใดได้ รวมถึงใช้แสดงความสำคัญขององค์ประกอบต่างๆภายในงานได้ด้วย นอกจากนั้นเรายังสามารถเห็นถึงความกลมกลืนและความขัดแย้งกันของวัตถุได้ เช่น วัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกันวางอยู่ใกล้กัน จะทำให้เกิดความรู้สึกกลมกลืนกัน และถ้าวัตถุมีขนาดแตกต่างกันวางอยู่ใกล้กัน จะทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้ง ดังนั้นเมื่อมีการออกแบบงาน 2 มิติ หรือ 3 มิติ ผู้ออกแบบควรที่จะคำนึงถึงขนาดของวัตถุให้ดีด้วย

ทิศทาง (Direction)

ทิศทางแสดงถึงความเคลื่อนไหวโดยรวม โดยแสดงให้รู้ว่ารูปร่างของวัตถุ และส่วนประกอบทั้งหมดมีแนวโน้มในการเคลื่อนไปในทิศทางใด ซึ่งทิศทางต่างๆก็ให้ความรู้สึกต่างกันออกไป เช่น กระตุ้นความรู้สึกของผู้พบเห็น ให้มีความคิดคล้อยตาม

พื้นที่ว่าง (Space)

หมายถึง พื้นที่บริเวณว่างๆโดยรอบวัตถุ และองค์ประกอบต่างๆของเรา เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า พื้นที่ว่างทางลบ หรือที่จะคุ้นหูกันในชื่อ Negative Space และบริเวณพื้นที่ว่างที่ตัวของวัตถุรูปทรงรูปร่างต่างๆเรียกว่า พื้นที่ว่างทางบวกหรือ Positive Space ในการออกแบบงานต่างๆ จะต้องคำนึงถึงช่วงระยะของพื้นที่เหล่านี้ให้มีความสัมพันธ์กัน โดยอย่าลืมที่จะต้องออกแบบพื้นที่ว่างให้มีความสวยงามด้วย ไม่ใช่ออกแบบเพียงแต่องค์ประกอบสำคัญเท่านั้น

ลักษณะพื้นผิว (Texture)

เป็นการแสดงลักษณะพื้นผิวของรูปร่าง หรือรูปทรงต่างๆ ซึ่งผิวนอกของสิ่งเหล่านี้มีลักษณะต่างกันไป ทั้งที่มีลักษณะผิวหยาบ ผิวขรุขระ ผิวด้าน ผิวละเอียด และผิวมัน ซึ่งเราสามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้ด้วยการสัมผัส หรือการมองเห็น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกับรูปร่างรูปทรงมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งผิวสัมผัสที่สำคัญออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ผิวสัมผัสที่รับรู้ได้ด้วยการมองเห็น (Visual Texture) คือ พื้นผิวของงาน ที่รู้สึกได้จากการมองเห็นด้วยตา ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าจะสัมผัสได้ด้วยมือ ซึ่งเมื่อสัมผัสแล้วกลับไม่มีความแตกต่างตามที่เห็น
  2. ผิวสัมผัสที่สัมผัสได้ด้วยมือ (Tactile Texture) ผิวสัมผัสประเภทนี้ไม่เพียงแต่มองเห็นได้ด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยจะเป็นผิวสัมผัสที่มีระดับสูงกว่างานออกแบบที่สัมผัสผิวได้ด้วยการมองเห็น ซึ่งถ้าหากเป็นงาน 2 มิติ ผิวสัมผัสที่สัมผัสได้ด้วยมือนี้มักออกมาเป็นภาพนูนต่ำ (Bas Relief) คล้ายคลึงกับงาน 3 มิติ

สี (Color)

สีมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์เป็นอย่างมาก เป็นคุณสมบัติเฉพาะของสีซึ่ง สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ และความรู้สึกต่างๆโดยตรง จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีพลังในการสื่อสารความรู้สึกโดยรวมของงานออกแบบได้เป็นอย่างดี

และทั้งหมดนี้ก็เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญในการออกแบบที่ผู้รับออกแบบควรศึกษาไว้

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : http://www.ideazign.com/port/graphic/content0302_09.htm

Contact Mee:

Copyright 2016 Mr. Mee Studio ©  All Rights Reserved

    Reach Mee: