
แอนิเมชั่นไทยมีความเป็นมาอย่างไร
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับประวัติความเป็นมาของแอนิเมชั่น (Animation) ในประเทศไทยกันว่ามีความเป็นมาเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่ก่อนอื่นเราจะมาทบทวนกันเกี่ยวกับความหมายของแอนิเมชั่นกันอีกครั้งว่าแอนิเมชั่นคืออะไร
แอนิเมชั่น นั้นหมายถึง การสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการนำเอาภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาเรียงต่อกันและฉายด้วยความเร็วสูงจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้น ซึ่งแอนิเมชั่นเป็นเหมือนกระบวนการสร้างภาพนิ่งให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างมีชีวิตชีวาซึ่งสามารถทำได้หลายเทคนิคไม่จำกัดว่าต้องทำด้วยคอมพิวเตอร์เสมอไปนั้นเอง
จุดเริ่มต้นแอนิเมชั่นไทย
ซึ่งการ์ตูนแอนิเมชั่นในบ้านเรานั้น ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 70 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเกิดจากการนำตัวการ์ตูนที่ถูกสร้างด้วยกระบวนการแอนิเมชั่นนำไปใช้ร่วมกับโฆษณาในทีวี เช่น หนูหล่อ งานโฆษณาทีวีของยาหม่องบริบูรณ์ปาล์ม สร้างสรรค์โดย อ.สรรพสิริ วิริยสิริ ซึ่งกลายเป็นผู้สร้างแอนิเมชั่นคนแรกของไทย และยังมีหมีน้อย ของนมตราหมี แม่มดกับสโนว์ไวท์ของแป้งน้ำควินน่าตามมาในภายหลังอีกด้วย
ซึ่งในช่วงนั้นจะมี อ.เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ที่มีความคิดอยากจะสร้างสรรค์แอนิเมชั่นขึ้นมาในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องล้มไปเพราะกฎหมายควบคุมสื่อในสมัยนั้น
แอนิเมชั่นไทยในที่สุดก็สำเร็จ
10 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2498 อ.ปยุต เงากระจ่าง สามารถสร้างสรรค์แอนิเมชั่นเต็มรูปแบบได้สำเร็จในที่สุด จากการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นภาพสีเรื่อง เหตุมหัศจรรย์ ความยาว 12 นาที นำมาออกฉายเป็นรายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับการนำออกฉายสู่สาธารณชนโดยประกอบในรายการฉาย ภาพยนตร์เรื่อง ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา หลังจากนั้นก็มีโครงการแอนิเมชั่นความยาว 20 นาทีออกมาอีก 2 เรื่อง
เรื่องแรกคือ หนุมานเผชิญภัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวสารอเมริกัน แต่ก็ล้มเหลวเพราะมีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่เหมือนจะไปเสียดสี จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ ผู้นำในสมัยนั้นซึ่งเกิดปีวอกและเรื่องที่สองคือ เด็กกับหมี ออกมาในปี 2503 ซึ่งเป็นขององค์การ สปอ.
ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 แอนิเมชั่นเรื่อง สุดสาคร ของ อ.ปยุต เงากระจ่าง ได้กลายเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทยใช้เวลาในการผลิตร่วม 2 ปี และก็ประสบความสำเร็จมากพอสมควรในยุคนั้น
เดินทางมาถึงช่วงซบเซา
ปี พ.ศ.2526 จึงมีแอนิเมชั่นออกฉายทางทีวีเรื่องแรกที่เป็นฝีมือคนไทยนั่นก็คือ ผีเสือแสนรัก หลังจากนั้นก็มีแอนิเมชั่นอีกหลายเรื่องถูกผลิตขึ้นเช่น เด็กชายคำแพง หนูน้อยเนรมิต เทพธิดาตะวัน จ่ากับโจ้ ตามออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการทำแอนิเมชั่นนั้นต้องใช้ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ก็เลยทำให้แอนิเมชั่นในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยได้รับความนิยม ต้องมีหลายๆคนต้องล้มเลิกไป
ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู
แต่ต่อมาประมาณปี 2542 แอนิเมชั่นในประเทศไทยที่ทำท่าว่ากำลังซบเซาและกำลังจะตายไป ก็กลับมาฟื้นฟูและกลับมาเป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้ง จากความพยายามของบริษัทบรอสคาสต์ไทย เทเลวิชั่น ที่ได้ผลิตแอนิเมชั่นที่สร้างสรรค์ดัดแปลงจากวรรณคดีของคนไทย ทั้งแอนิเมชั่นเรื่อง ปลาบู่ทอง สังข์ทอง เงาะป่า ออกมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนในปีพ.ศ. 2545 น่าจะเรียกว่าเป็นปีทองของแอนิเมชั่น 3 มิติของคนไทยเลย โดยเฉพาะ ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชั่น และ สุดสาคร ซึ่งทั้ง 2 เรื่องได้สร้างปรากฏการณ์ในแง่ของการขายตัวละครการ์ตูนใช้ประกอบสินค้าและเพลงประกอบ จ้ามะจ๊ะ ทิงจา ก็ฮิตติดหูจนเรียกได้ว่าเด็กๆ ร้อง เต้น กันได้แถบทุกคน รวมไปถึงการมีบริษัทรับจ้างทำแอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นและอเมริกาอีกหลายๆเรื่องด้วย และต่อมาก็มีภาพยนตร์การ์ตูน ก้านกล้วย แอนิเมชั่นจากบริษัท กันตนา ที่เข้ามาปลุกกระแสให้กับแอนิเมชั่นไทยกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังซบเซาไปนาน
และนี้ก็คือเรื่องราวความเป็นมาคร่าวๆ ของแอนิเมชั่นในประเทศไทย ซึ่งก็เคยผ่านมาทั้งช่วงรุ่งเรื่องและช่วงซบเซา ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
คอลัมน์ Legend of Animation จาก นิตยสาร @nime ฉบับที่1"การ์ตูนไทยสายพันธุ์ใหม่" ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11/5/47 และ http://www.kartoon-discovery.com/history/history1.html#ixzz4maiClDxP